History of Psychology, Kasetsart University

ประวัติภาควิชาจิตวิทยา

ประวัติภาควิชาจิตวิทยา

ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่

■ พ.ศ.2507ภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้รับการแต่งตั้งขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ กลุ่มวิชาจิตวิทยาได้รับการบรรจุเข้าในหลักสูตรของ ภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ อันประกอบไปด้วยวิชา จิตวิทยาเบื้องต้น จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน จิตวิทยาสังคม และจิตวิทยามนุษยสัมพันธ์

■ พ.ศ.2517 คณะสังคมศาสตร์ ได้รับการ สถาปนาขึ้น กลุ่มวิชาจิตวิทยาได้เริ่มจัดเข้าเป็นระบบโดยเรียกว่า สาขาจิตวิทยา

■ พ.ศ. 2518 เปิดรับนิสิตเข้าศึกษาวิชาจิตวิทยาเป็นรุ่นแรก เมื่อ พ.ศ. 2518 โดยมีวัตถุประสงค์ของการรับสมัครคือ
เพื่อศึกษา ค้นคว้า และวิจัยองค์ความรู้ต่างๆ ทางสาขาจิตวิทยา
เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ มีคุณภาพ และมีคุณธรรม สู่สังคมไทยและสังคมโลก
เพื่อเสนอความรู้ทางวิชาการแก่สังคม
เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย

ปรัชญา ปณิธานและวัตถุประสงค์

“พัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการจิตวิทยา ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ คุณธรรม และสร้างจิตสำนึกรับใช้สังคม”

ในระยะแรกภาควิชาจิตวิทยาได้เปิดสอนเพียง 2 สาขา คือ สาขาจิตวิทยาพัฒนาการและจิตวิทยาคลินิก และเพื่อที่จะให้การเรียนการสอนทันต่อเหตุการณ์ของโลกและสังคม ภาคจิตวิทยาได้พยายามผลิตบัณฑิตที่จะออกไปรับใช้สังคมให้เหมาะตามกาลสมัยของโลกปัจจุบัน

■ พ.ศ.2528 ภาคจิตวิทยา จึงได้เปิดสอนเพิ่มเติมอีก 2 สาขา คือ สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรม เพื่อสนองตลาดแรงงานด้านการขยายตัวทางอุตสาหกรรมของประเทศ และสาขาจิตวิทยาชุมชน เพื่อรองรับและรณรงค์สาธารณะสุขมูลฐานของประชาชน โดยเน้นหนักไปในเรื่องการป้องกันสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายของชุมชนซึ่งเป็นการป้องกันเบื้องต้น

นอกจากนี้ภาควิชาจิตวิทยาได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะพัฒนาจากประเทศเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม

■ โดยในปี พ.ศ.2530 เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความจำเป็นและความขาดแคลน บุคลากรที่จะมีส่วนสำคัญและจะเป็นพลังผลักดัน ที่สำคัญในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นคือ นักจิตวิทยา โดยเฉพาะนักจิตวิทยาอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องเข้าไปมีบทบาทในด้านธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรุ่นแรกที่เปิดสอนนั้นมีนิสิตจำนวน 8 คน

■ ในปี พ.ศ.2545 ได้เปิดสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาชุมชน ทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ

■ ในปี พ.ศ.2551 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมได้เพิ่มเติมคำว่า “องค์การ” เข้าไปในหลักสูตร โดยเปลี่ยนเป็นสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาวิชาทางด้านองค์การตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

■ นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2551 ปีเดียวกันนั้นเอง ภาควิชาจิตวิทยาได้เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อทางด้านจิตวิทยาในระดับอุดมศึกษา โดยทำการเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ทั้ง 4 สาขาในภาคพิเศษ เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรทางด้านจิตวิทยาที่เพิ่มมากขึ้นของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน